กฎหมาย e-Service คืออะไร?
กฎหมาย e-Service หรือภาษี e-Service คือ การจัดเก็บ VAT จากผู้ให้บริการต่างประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ที่มีรายได้จากการให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้อำนาจกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บ ในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งให้เสียภาษีจากภาษีขายโดยไม่ให้นำภาษีซื้อมาหัก และผู้ให้บริการต่างประเทศจะต้องยื่นจดทะเบียนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
ธุรกิจที่ต้องยื่นจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษีกับกรมสรรพากร มี 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย
- แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ (E-Commerce)
- แพลตฟอร์มโฆษณา เช่น Facebook หรือ Google
- แพลตฟอร์มบริการออนไลน์จองที่พัก-โรงแรม ตั๋วเดินทาง เช่น com, Agoda
- แพลตฟอร์มตัวกลาง เช่น เรียกรถรับส่ง สั่งอาหาร
- แพลตฟอร์มบริการออนไลน์ เช่น เกม ดูหนัง ฟังเพลง ระบบ Clound ประชุมออนไลน์ Subscription และ Digital Content อื่นๆ เช่น App Store, Play Store, PlayStation Store, Netflix, Youtube, Spotify, Zoom หรือ Dropbox
ซึ่งร้านขายออนไลน์ธรรมดาที่ไม่ได้จด VAT หากยิง Ads จะต้องจ่ายค่าโฆษณา และ VAT 7% ตามนโยบายของ Facebook แต่ถ้าไม่ได้ซื้อ Ads ก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
ส่วนผู้ประกอบการที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถแจ้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีให้กับทาง Facebook รับทราบเท่านั้น และก็ยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งสรรพากรตามปกติ
หากผู้ใช้บริการไม่ยอมจ่าย VAT ให้กับ Facebook ก็อาจจะถูก Facebook ระงับการใช้บริการตามระเบียบและนโยบาย ส่วนผู้ค้าที่จด VAT ถ้าไม่ยื่นแบบ ภ.พ.36 ส่งกรมสรรพากร ก็จะโดนค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง เงินเพิ่มหรือดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน)
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ e-Service จากต่างประเทศไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี และไม่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เผยแพร่รายชื่อผู้ประกอบการ e-Service จากต่างประเทศที่ได้จดทะเบียนแล้วบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (คลิกที่นี่) หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร 1161