ช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมอนามัยได้มีข้อเสนอแนะมาตรการ 3 ล. ลด เลี่ยง ดูแล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การล้างมือบ่อยๆ การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว นอกจากนี้การดูแลสุชภาพให้แข็งแรง ทั้งการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ จะช่วยทำให้เป็นเกราะป้องกันการติดเชื้อได้ อาหารถือเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทุกกลุ่มวัย โดยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย เหมาะสม เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพียงพอ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในการเสริมสร้างภูมิต้านทาน ควรกินโปรตีนให้เพียงพอ โดยเฉพาะเนื้อปลา นม ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ผักและผลไม้หลากหลายสีประมาณวันละครึ่งกิโลกรัม โดยเฉพาะผักผลไม้สีเหลือง เช่น มะม่วง มะละกอสุก ฟักทอง ฯลฯ เพื่อให้ได้รับวิตามินซี เอ และสารพฤกษเคมี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ กินเครื่องเทศ เช่น หอม กระเทียม พริกที่ไม่เผ็ดมาก ขิง ขมิ้น อาหารเหล่านี้ล้วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ มีสารอาหารที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ดังนี้
-
วิตามินซี
วิตามินซี ช่วยในกระบวนการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการขจัดเชื้อโรค เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านภูมิแพ้ ช่วยลดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดการจาม น้ำมูกไหล ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร
-
วิตามินอี
วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย โดยวิตามินอี จะทำหน้าที่ขจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาต่างๆ ในร่างกายและมีบทบาทในการป้องกันมิให้กรดไขมันไม่อิ่มตัว และส่วนประกอบเยื่อหุ้มเซลล์ของอวัยวะในร่างกายถูกทำลาย
-
วิตามินดี
วิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน หน้าที่หลักของวิตามินดี คือ ควบคุมภาวะสมดุลของแคลเซียม และฟอสเฟตในกระแสเลือด ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และป้องกันโรคกระดูกบาง และกระดูกพรุน นอกจากนี้วิตามินดียังมีหน้าที่อื่นๆ เช่น ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ การแบ่งตัวของเซลล์ และการตายของเซลล์ที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย วิตามินดีมีความจำเป็นสำหรับการทำงานที่เหมาะสมของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นประการแรกในการป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อและโรค มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารเสริมวิตามินดีสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกัน และป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้
-
ซีลีเนียม
ซีลีเนียม เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง มีหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระต่างๆ ที่ทำอันตรายต่อเซลล์หรือเปลี่ยนแปลงเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง ทั้งยังช่วยเสริมการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี ส่งเสริมให้ร่างกายเจริญเติบโตตามปกติ
-
สังกะสี
สังกะสี มีความสำคัญต่อร่างกายมาก เป็นแร่ธาตุที่ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคและการเจริญเติบโต สังกะสีไม่สะสมในร่างกาย จึงต้องกินทุกวัน การขาดสังกะสี ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดสังกะสี ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีความผิดปกติของตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคเอดส์ ถ้าขาดสังกะสีจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สาเหตุการขาดสังกะสี เกิดจากกินสังกะสีไม่เพียงพอ มีการดูดซึมผิดปกติ มีการสูญเสียสังกะสีออกจากร่างกายจากการติดเชื้อ
สมุนไพร และเครื่องเทศเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน มีดังนี้
-
พริก
พริก เป็นแหล่งวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี โดยเฉพาะวิตามินซี จะพบในปริมาณที่สูงกว่าปริมาณวิตามินซีในผลส้ม
-
กะเพรา
กะเพรา เป็นพืชสมุนไพร มีกลิ่นหอมฉุนและรสเผ็ดร้อน มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ กะเพราขาว และกะเพราแดง นิยมใช้กะเพราแดงส่วนของใบและยอด (ทั้งสดและแห้ง) มาทำเป็นยาสมุนไพร ส่วนกะเพราขาวนำมาใช้ประกอบอาหาร เพื่อเสริมรสชาติและกลิ่น
-
หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม
- หอมหัวใหญ่ หอมแดง มีสารเคอร์ซิติน (Quercetin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
- กระเทียม มีสารอัลลิซิน (Allicin) ช่วยต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ
ตัวอย่าง “เมนูอาหารที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน”
อ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ที่ : https://drive.google.com/file/d/1w133h5Vvv4f2sFvYM4mZR-tjn4zc1Wyk/view